วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2551

บทที่ ๑
เอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนากับสถานะภาพการศึกษา
ผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของล้านนา

การที่จะศึกษา สำรวจและค้นหาคุณค่าของเอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนาในครั้งนี้นั้น ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจในคำจำกัดความและความหมายของคำว่า “ล้านนา” และ “เอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนา” ให้ตรงกันเสียก่อน คำว่า “ล้านนา” นั้นโดยทั่วไปแล้วจะเข้าใจกันเป็นอันดีว่าหมายถึง ชื่อของอาณาจักรโบราณหรือกลุ่มบ้านเมืองซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีการปกครองเป็นแคว้นอิสระและมีความเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๕ กลุ่มบ้านเมืองเหล่านี้มีดินแดนตั้งอยู่ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยในปัจจุบัน ประกอบด้วยเมืองสำคัญๆ คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่านและแม่ฮ่องสอน ด้วยความที่ล้านนาเป็นแคว้นอิสระและมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน จึงทำให้ดินแดนล้านนาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรมและประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีแบบแผนทางวัฒนธรรมเป็นของตนเอง
ส่วนคำว่า “เอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนา” ในการวิจัยครั้งนี้หมายถึง ผลงานการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางศิลปะที่โดดเด่นสะท้อนเรื่องราววิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมร่วมกันของชาวล้านนาในปัจจุบัน หรือผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของชาวล้านนาที่มีลักษณะเด่นและรากฐานทางวัฒนธรรมร่วมกัน
เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องราวของ “ล้านนา” และ “เอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนา” ดังนั้นในบทนี้จึงเป็นการกล่าวถึงภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของล้านนาและทบทวนงานวรรณกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการศึกษางานเอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนาในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อที่จะได้เป็นแนวทางของการสร้างเครื่องมือวัดเพื่อค้นหาคุณค่าความเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปกรรมล้านนาในบทต่อไป



ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ล้านนา
ในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ตั้งของกลุ่มบ้านเมืองที่มีการปกครองเป็นแคว้นอิสระ มีชื่อเป็นที่รู้จักกันว่า ล้านนา กลุ่มบ้านเมืองเหล่านี้ประกอบไปด้วยเมืองสำคัญๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญต่างๆคือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย เชียงแสน พะเยา แพร่ น่าน ฯลฯ รวมทั้งเมืองต่างๆอีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตแดนประเทศพม่า จีน และลาว บ้านเมืองต่างๆเหล่านี้มีความสัมพันธ์กันทั้งในทางการเมือง เชื้อชาติ ประเพณี และศิลปะวัฒนธรรม โดยมีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง แคว้นล้านนาหรืออาณาจักรล้านนานี้มีหลักฐานที่ปรากฎในเอกสารทางประวัติศาสตร์บางฉบับได้กล่าวว่า ดินแดนล้านนาประกอบด้วย ๕๗ เมือง [1] แต่ไม่ได้ระบุว่า ๕๗ เมืองนั้นมีเมืองใดบ้างและอยู่ช่วงเวลาใด และในเอกสารโบราณของจีนก็เรียกดินแดนส่วนนี้ว่า อาณาจักรปาไปสีฟู (Pa - Pai - hsi - Fu - Kingdom) [2] ซึ่งได้มีการกล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรปาไปสีฟูว่า ทางทิศตะวันออกจรดแม่น้ำโขง ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำสาละวิน ทิศใต้จรดสวรรคโลก และทิศเหนือถึงเขตเหนือเชียงแสนถึงเชอหลี่ (แคว้นสิบสองพันนา) [3] ซึ่งเรื่องราวที่จะนำเสนอในบทนี้เป็นการกล่าวถึงประวัติศาสตร์ของล้านนาโดยสังเขปและประวัติความเป็นมาของเมืองสำคัญต่างๆ ในดินแดนล้านนา เพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้เกิดความเข้าใจในอดีตของแคว้นล้านนา
โดยทั่วไปยอมรับกันว่าอาณาจักรล้านนาควรจะเริ่มต้นเมื่อพระเจ้ามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ ๑๘๓๙ หลังจากที่ได้รวบรวมบ้านเมืองต่างๆ ทั้งในแคว้นโยนกและหริภุญไชยไว้ได้เป็นปึกแผ่น ทรงประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีความหมายว่า เมืองเชียงใหม่ได้เป็นกลายเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรหรือราชธานีของล้านนานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ได้ปรากฏมีกลุ่มบ้านเมืองต่างๆตั้งกระจัดกระจายอยู่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำสายสำคัญๆ ในรูปของแคว้นหรือรัฐขนาดเล็ก ที่มีเมืองใหญ่เป็นศูนย์กลาง ซึ่งแคว้นสำคัญๆที่ปรากฏมีอยู่ก่อนการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา ได้แก่ แคว้นหริภุญไชย ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มบ้านเมืองที่อยู่แถบที่ราบลุ่มแม่น้ำปิงกับแม่น้ำวัง โดยมีเมืองหริภุญไชยเป็นศูนย์กลางของแคว้น แคว้นน่าน ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำน่านตอนบน มีเมืองปัว หรือพลั่ว หรือวรนคร เป็นศูนย์กลาง แคว้นพะเยา ตั้งอยู่บริเวณโดยรอบกว้านพะเยาและที่ราบลุ่มแม่น้ำอิง มีเมืองพะเยาเป็นศูนย์กลาง และแคว้นโยนก ซึ่งมีอาณาบริเวณครอบคลุมที่ราบลุ่มของแม่น้ำหลายสายที่อยู่ต่อเนื่องกันในเขตพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เช่น ที่ราบลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำลาว แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง มีเมืองหลายๆเมืองผลัดเปลี่ยนกันเป็นศูนย์กลางไปตามยุคสมัย โดยในช่วงก่อนการก่อตั้งอาณาจักรล้านนาจะมีเมืองเชียงรายเป็นเมืองสำคัญ
ในปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘ แคว้นโยนกซึ่งมีพระเจ้ามังราย เป็นกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ในวงศ์ลวจักราชแห่งเมืองหิรัญนครเงินยาง เมื่อได้เสวยราชย์ที่เมืองหิรัญนครเงินยางใน พ.ศ ๑๘๐๔ แล้ว ได้ทรงปราบปรามและรวบรวมหัวเมืองต่างๆในเขตแคว้นโยนกเข้าไว้เป็นอันหนึ่งเดียวกัน ต่อมาได้ยกกองทัพไปตีเมืองหริภุญไชย และสามารถยึดครองเมืองหริภุญไชยได้ใน พ.ศ ๑๘๒๔ [4] พระเจ้ามังรายทรงประทับอยู่เมืองหริภุญไชยเพียง ๒ ปี จึงได้ทรงสร้างเวียงกุมกามขึ้นเป็นที่ประทับใน พ.ศ ๑๘๒๙ และประทับอยู่ที่เวียงกุมกามได้สิบปี ครั้นใน พ.ศ ๑๘๓๙ จึงได้สร้างเมืองแห่งใหม่ขึ้นอีกครั้งในบริเวณที่ราบเชิงดอยสุเทพ เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงให้ชื่อเมืองแห่งนี้ว่า นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ซึ่งต่อมาได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง การปกครอง การเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาตลอดมา
หลังจากสร้างเมืองเชียงใหม่เสร็จไม่นาน พญาเบิกผู้ครองเมืองเขลางค์นครซึ่งเป็นราชบุตรของพญายีบาอดีตกษัตริย์ผู้ครองแคว้นหริภุญไชย ได้ยกกองทัพจากเมืองเขลางค์นครมาเพื่อจะชิงเอาเมืองหริภุญไชยคืน แต่กองทัพเมืองเชียงใหม่สามารถรบชนะกองทัพเมืองเขลางค์นคร พญาเบิกสิ้นชีวิตในการรบ ต่อมากองทัพเชียงใหม่ก็สามารถยึดเมืองเขลางค์นครได้ และแต่งตั้งขุนนางชาวเขลางค์นครเป็นเจ้าเมืองปกครอง ขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นการขยายดินแดน รวมเอาบ้านเมืองในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำวัง เข้าไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ในระยะเริ่มแรกของการก่อตั้งอาณาจักรล้านนานั้น เมืองเชียงใหม่ยังคงมิได้เป็นศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง เพราะหลังจากที่พระเจ้ามังรายสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ ๑๘๕๔ แล้ว พระเจ้าชัยสงครามผู้เป็นราชโอรสได้ครองราชย์สืบต่อมา พระเจ้าชัยสงครามประทับอยู่ที่เมืองเชียงใหม่เพียงสี่เดือนเท่านั้น ก็เสด็จกลับไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงราย ส่วนเมืองเชียงใหม่ทรงมอบให้พระเจ้าแสนภูราชโอรสปกครองแทน สาเหตุที่ต้องไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงรายนั้น คงเนื่องมาจากดินแดนเดิมที่เป็นแคว้นโยนกนั้นยังไม่ปลอดภัย เนื่องจากเมืองพะเยายังคงเป็นรัฐอิสระที่มีความเข้มแข็งอยู่ หากย้ายศูนย์กลางและกองทัพไปอยู่ที่เมืองเชียงใหม่แล้ว บริเวณพื้นที่ในแถบที่ราบลุ่มเชียงรายอาจเสี่ยงอันตรายต่อการขยายอิทธิพลของเมืองพะเยา อย่างไรก็ตามเมื่อพระเจ้าชัยสงครามสิ้นพระชนม์ที่เมืองเชียงรายแล้ว พระเจ้าแสนภูได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน พระเจ้าแสนภูทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าคำฟูราชโอรสครองเมืองเชียงใหม่ ส่วนพระองค์เสด็จไปประทับที่เมืองเชียงราย และต่อมาทรงสร้าง เมืองเชียงแสน ขึ้นในบริเวณที่ที่เชื่อว่าเป็นเมืองหิรัญนครเงินยางเดิมเมื่อ พ.ศ ๑๘๗๑ เมื่อสร้างเมืองเชียงแสนเสร็จแล้วศูนย์กลางของอาณาจักรล้านนาได้เลื่อนมาอยู่ที่เมืองเชียงแสนแทน เพราะหลังจากนั้นพระเจ้าแสนภูได้เสด็จมาประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนตลอดพระชนม์ชีพ นับแต่นั้นมาเมืองเชียงแสนได้กลายเป็นเมืองสำคัญที่มีความเจริญทั้งในทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก
พระเจ้าคำฟูได้ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของล้านนาสืบต่อจากพระเจ้าแสนภู และประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสน ซึ่งในรัชกาลนี้เองพระเจ้าคำฟูได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองน่าน ยกกองทัพไปตีเมืองพะเยาได้ใน พ.ศ ๑๘๘๑ และสามารถรวบรวมแคว้นพะเยาเข้าไว้ในขอบเขตขัณฑสีมาของล้านนาได้ หลังจากนั้นได้พยายามที่จะขยายอำนาจต่อไปยังเมืองแพร่แต่ไม่สำเร็จ เมื่อสิ้นพระเจ้าคำฟูแล้ว พระเจ้าผายูได้สืบราชสมบัติเป็นกษัตริย์ล้านนาใน พ.ศ ๑๘๘๘ แต่มิได้เสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองเชียงแสนเหมือนกับกษัตริย์ล้านนาองค์ก่อนๆ คงประทับอยู่เมืองเชียงใหม่มาโดยตลอด ทั้งนี้เพราะล้านนาสามารถควบคุมแคว้นพะเยาให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรได้แล้ว และปัญหาของบ้านเมืองในทางตอนเหนือคงเรียบร้อยดีแล้ว ดังนั้นเมืองเชียงใหม่จึงได้มีความสำคัญกลายเป็นศูนย์กลางของราชอาณาจักรอีกครั้ง และนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนาอย่างแท้จริง
ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนาได้เริ่มมีพัฒนาการเกิดขึ้นนับตั้งแต่สมัยพระเจ้ากือนาได้ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ ๑๘๙๘ เป็นต้นมา ในเวลาดังกล่าวพระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้เข้ามาสู่ดินแดนล้านนา ทั้งนี้เนื่องจากพระเจ้ากือนาได้อารธนาพระสุมนเถระจากเมืองสุโขทัยมาเผยแพร่พระศาสนาในเมืองเชียงใหม่และดินแดนล้านนา ทั้งนี้เพราะพระสุมนเถระนั้นได้เคยไปศึกษาและอุปสมบทใหม่ในสำนักของพระมหาเถระชื่อมหาสามีอุทุมพรที่เมืองเมาะตะมะ ซึ่งพระมหาสามีอุทุมพรเถระนั้นเคยไปศึกษาและอุปสมบทใหม่ในลังกา พระสุมนเถระนั้นถือได้ว่ามีบทบาทอย่างสำคัญในการวางรากฐานพระพุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ในล้านนา เพราะหลังจากที่พระสุมนเถระได้มาพำนักอยู่ที่วัดสวนดอกแล้ว พระเจ้ากือนาได้สนับสนุนให้พระภิกษุจากเมืองต่างๆในล้านนา เช่น เชียงแสน เชียงตุง และอื่นๆ เดินทางเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนาที่วัดสวนดอกนี้ จึงทำให้วัดสวนดอกและเมืองเชียงใหม่ได้กลายเป็นมาศูนย์กลางของการศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยแทนที่เมืองหริภุญชัยในเวลาต่อมา
กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าแสนเมืองมา ราชบุตรของพระเจ้ากือนา ซึ่งจะครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ ๑๙๒๘ - ๑๙๔๔ เมื่อขึ้นครองราชย์นั้นมีพระชนมายุเพียง ๑๔ พรรษา ในเวลานั้นเจ้ามหาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพระมาตุลาของพระเจ้าแสนเมืองมา ได้ยกกองทัพมาเมืองเชียงใหม่เพื่อแย่งชิงราชสมบัติ แต่ถูกกองทัพเมืองเชียงใหม่ตีพ่ายไป เจ้ามหาพรหมเสด็จไปขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระบรมราชาที่ ๑ (ขุนหลวงพงั่ว)แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นใน พ.ศ ๑๙๒๙ กรุงศรีอยุธยาจึงได้ยกกองทัพมาสู่ดินแดนล้านนาเพื่อจะมาตีเมืองนครลำปาง แต่ก็ถูกตีพ่ายกลับไป ไม่นานเจ้ามหาพรหมก็กลับมาเมืองเชียงใหม่เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ ในการกลับมาครั้งนั้นเจ้ามหาพรหมได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองกำแพงเพชรมาถวายพระเจ้าแสนเมืองมาด้วย ซึ่งก็โปรดฯให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดลีเชียงพระหรือวัดพระสิงห์ในปัจจุบัน และทรงโปรดฯให้เจ้ามหาพรหมไปครองเมืองเชียงรายตามเดิม ต่อมาพระเจ้าแสนเมืองมาได้ยกกองทัพไปตีเมืองสุโขทัยแต่ก็พ่ายแพ้กลับมา เหตุการณ์ของสงครามที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระเจ้าแสนเมืองมานี้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งระหว่างล้านนากับสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ซึ่งจะเป็นชนวนให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา
ในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกนราชโอรสของพระเจ้าแสนเมืองมา ซึ่งครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ ๑๙๔๕ - ๑๙๘๔ เป็นช่วงเวลาที่มีศึกสงครามทั้งทางเหนือและใต้ เมื่อพระเจ้าสามฝั่งแกนขึ้นเสวยราชย์แล้ว ท้าวยี่กุมกามเจ้าเมืองเชียงรายซึ่งเป็นพระเชษฐาของพระเจ้าสามฝั่งแกนไม่พอใจที่ไม่ได้ขึ้นครองราชย์ จึงขอกองทัพจากสุโขทัยไปช่วยรบแย่งชิงเมืองเชียงใหม่ แต่กองทัพสุโขทัยพ่ายแพ้กลับไป หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดศึกสงครามครั้งใหญ่กับฮ่อซึ่งส่งกองทัพใหญ่มาล้อมเมืองเชียงแสน ในที่สุดกองทัพฮ่อเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกกองทัพล้านนาติดตามขับไล่ไปจนสุดสิบสองพันนา หลังจากยุติสงครามกับฮ่อแล้วบ้านเมืองก็มีความสงบสุขตลอดมา เหตุการณ์สำคัญประการหนึ่งในรัชสมัยของพระเจ้าสามฝั่งแกน คือการเข้ามาของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายใหม่หรือสายสีหล ซึ่งได้มาตั้งมั่นอยู่ที่ วัดป่าแดงเมือง เชียงใหม่
ต่อมาพระเจ้าติโลกราชโอรสของพระเจ้าสามฝั่งแกนได้ขึ้นเสวยราชย์ต่อจากพระราชบิดาใน พ.ศ ๑๙๘๔ พระเจ้าติโลกราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถในการทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญในทุกๆด้าน โดยเฉพาะทางด้านการเมืองและการพระศาสนา ทางด้านการเมืองนั้นทำให้ฐานะของอาณาจักรล้านนามีความมั่นคงมาก พระองค์ทรงขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง โดยทางทิศใต้และทิศตะวันออกสามารถยึดแคว้นน่านและเมืองแพร่ได้ ด้านทิศตะวันตกขยายไปจนถึงรัฐชานหรือไทใหญ่ ได้เมืองไลคา เมืองนาย เมืองสีป้อ เมืองยองห้วย เป็นต้น ด้านเหนือได้เมืองเชียงรุ้ง โดยเฉพาะการขยายอาณาเขตจนสามารถยึดครองเมืองน่านและเมืองแพร่เข้ามาไว้เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร ถือได้ว่าเป็นการรวบรวมดินแดนล้านนาให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้านการพระศาสนาพระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและสนับสนุนพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์สายใหม่หรือสายสีหล ซึ่งต่อมาได้โปรดฯให้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งสำคัญเป็นครั้งที่ ๘ ของโลก ณ วัดโพธารามมหาวิหารหรือวัดเจ็ดยอด พระไตรปิฎกที่ได้รับการชำระครั้งนั้นได้ถือเป็นหลักปฎิบัติของพระสงฆ์นิกายต่างๆในล้านนาสืบมา ทรงสร้างวัดและปูชนียสถานที่สำคัญขึ้นหลายแห่ง เช่น องค์พระเจดีย์หลวง เมืองเชียงใหม่ วัดป่าแดงหลวง วัดโพธารามมหาวิหาร และอื่นๆ เป็นต้น
การได้เมืองแพร่และเมืองน่านไว้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนานั้น นอกจากจะได้แหล่งเกลืออันมีค่าไว้แล้ว ยังเป็นการเปิดประตูช่องใหม่ที่นำทางลงสู่ดินแดนที่อยู่ทางใต้ลงไปอีกสองทางคือ เส้นทางลำน้ำยมและลำน้ำน่าน เส้นทางใหม่นี้เองที่ชักนำให้เกิดศึกแย่งดินแดนแคว้นสุโขทัยระหว่างพระเจ้าติโลกราชกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา ทำให้ล้านนากับกรุงศรีอยุธยาได้ทำสงครามกันเป็นเวลานาน แต่ในที่สุดก็เป็นไมตรีต่อกัน ผลของสงครามดังกล่าวได้ทำให้ล้านนาอ่อนกำลังและเสียรี้พลเป็นจำนวนมาก ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ ซึ่งนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสียเอกราชแก่พม่าในเวลาต่อมา
เมื่อสิ้นพระเจ้าติโลกราชแล้ว กษัตริย์องค์ต่อมาคือ พระเจ้ายอดเชียงราย พระราชนัดดาของพระเจ้าติโลกราช ได้ครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ ๒๐๓๐ - ๒๐๓๘ มีระยะเวลาประมาณ ๘ ปี ต่อมาพระเจ้ายอดเชียงรายถูกบรรดาขุนนางปลดออกจากราชสมบัติ ด้วยข้ออ้างที่ว่าไม่ได้ทำความเจริญให้แก่บ้านเมือง ได้เนรเทศไปอยู่เมืองจวาดน้อย และได้อภิเษกพระเจ้าเมืองแก้วราชบุตรขึ้นเป็นกษัตริย์แทน เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันขุนนางมีอำนาจค่อนข้างมากจนกระทั่งสามารถปลด ถอดถอน และแต่งตั้งกษัตริย์ได้ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดความอ่อนแอขึ้นในบ้านเมืองที่ส่งผลให้อาณาจักรล้านนาเสื่อมลงในที่สุด
ในรัชสมัยของพระเมืองแก้วที่ขึ้นครองราชย์ในระหว่าง พ.ศ ๒๐๓๘ - ๒๐๖๘ เวลาดังกล่าวถือได้ว่าล้านนาเข้าสู่ยุคแห่งความเจริญสูงสุด และถือได้ว่าเป็นยุคทองของล้านนาอย่างแท้จริง แม้ในช่วงเวลานี้จะมีการทำศึกสงครามกับกรุงศรีอยุธยาอยู่บ้าง โดยกองทัพเมืองเชียงใหม่ลงไปตีเมืองสุโขทัยใน พ.ศ ๒๐๕๐ บางครั้งเลยไปตีถึงเมืองกำแพงเพชรและเชลียง จนกระทั่งใน พ.ศ ๒๐๕๘ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยาก็ได้ยกทัพมาตีเมืองนครลำปางจนแตก แต่ไม่สามารถยึดครองได้เพียงแต่กวาดต้อนเอาผู้คนไป ในที่สุดได้มีการทำสัญญาไมตรีต่อกัน ใน พ.ศ ๒๐๖๕ บ้านเมืองจึงเข้าสู่ความสงบสุขและมีความเจริญเกิดขึ้นในบ้านเมือง ในช่วงเวลานี้ได้ปรากฏมีงานวรรณกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาชิ้นสำคัญของล้านนาเกิดขึ้น ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี เช่น ชินกาลมาลีปกรณ์ เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสฎีกา มังคลัตถทีปนี ฯลฯ เป็นต้น
แม้ว่าแคว้นล้านนาจะมีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในช่วงเวลานี้ แต่ในตอนปลายรัชกาลของพระเจ้าเมืองแก้วนั้น มีเหตุการณ์ที่ทำให้ล้านนาต้องอ่อนกำลังลงเนื่องจากสูญเสียขุนนางและไพร่พลเป็นอันมาก หลังจากที่พระเจ้าเมืองแก้วส่งกองทัพไปรบเมืองเชียงตุง แต่พ่ายแพ้ยับเยิน ขุนนางระดับผู้ครองเมืองเสียชีวิตถึง ๕ คน ความเสียหายครั้งนั้นทำให้พระเจ้าเมืองแก้วทรงพิโรธ และสั่งให้ประหารชีวิตแสนยีพิงค์ไชยแม่ทัพใหญ่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสงครามที่ผ่านมา ทำให้ล้านนาสูญเสียคนที่มีความสามารถและกำลังพลเป็นอันมาก ซึ่งทำให้มีผลกระทบต่อความเข้มแข็งของล้านนาในเวลาต่อมา
เมื่อสิ้นรัชกาลของพระเมืองแก้วแล้ว พระเจ้าเมืองเกษเกล้าพระอนุชาของพระเจ้าเมืองแก้วก็ได้ขึ้นครองราชย์ครั้งแรกอยู่ในระหว่าง พ.ศ ๒๐๖๘ - ๒๐๘๑ ช่วงเวลานี้บ้านเมืองเริ่มมีความอ่อนแอลง เพราะนับตั้งแต่สิ้นรัชกาลของพระเจ้าติโลกราชแล้ว ได้เกิดเหตุการณ์จลาจลแย่งชิงราชสมบัติบ่อยครั้ง ในสมัยพระเจ้าเมืองเกษเกล้านี้ อำนาจการปกครองจะตกอยู่ในมือของขุนนาง บรรดาขุนนางมีอำนาจมากถึงกับสามารถถอดถอนและแต่งตั้งกษัตริย์ได้ เมื่อพระเจ้าเมืองเกษเกล้าครองราชย์มาได้ ๑๓ ปี เจ้าท้าวซายคำราชบุตรและบรรดาเสนาอำมาตย์ได้ชิงราชสมบัติและเนรเทศพระเจ้าเมืองเกษเกล้าไปไว้ ณ เมืองน้อย เจ้าท้าวซายคำครองราชสมบัติได้ ๕ ปี (พ.ศ ๒๐๘๑ - ๒๐๘๖) ได้ประพฤติผิดราชประเพณีทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในบ้านเมือง ดังนั้นบรรดาขุนนางจึงได้เป็นกบถและปลงพระชนม์เจ้าท้าวซายคำ แล้วไปอัญเชิญพระเจ้าเมืองเกษเกล้ากลับคืนมาครองราชย์สมบัติเหมือนดังเดิม มีเรื่องกล่าวไว้ในตำนานว่า พระเจ้าเมืองเกษเกล้าครองราชสมบัติครั้งที่สองสืบมาได้เพียงสองปี เกิดเสียพระสติกระทำการจลาจลเดือดร้อนต่างๆ ด้วยเหตุนี้บรรดาขุนนางต่างก็คิดกำจัดด้วยการลอบปลงพระชนม์ หลังจากนี้บรรดาขุนนางในเมืองเชียงใหม่ก็ได้แตกแยก ต่างก็แย่งชิงความเป็นใหญ่ ต่างฝ่ายต่างก็สนับสนุนเจ้านายฝ่ายของตนขึ้นครองราชย์ โดยฝ่ายหนึ่งต้องการให้เชิญพระเขมรัฐเชียงตุงให้มาครองราชย์ และอีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้เชิญพระไชยเชษฐาจากล้านช้างให้มาเป็นกษัตริย์ จึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น โดยฝ่ายที่ต้องการให้เชิญพระไชยเชษฐาจากล้านช้างมาเป็นกษัตริย์เป็นฝ่ายชนะ เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการสูญเสียข้าราชการผู้มีความสามารถของล้านนาอีกครั้งหนึ่ง แต่ในระหว่างที่เรื่องต่างๆยังไม่เรียบร้อย กลุ่มขุนนางจึงได้เชิญพระนางจิรประภาขึ้นครองเมืองชั่วคราวในช่วงระหว่าง พ.ศ ๒๐๘๘ - ๒๐๘๙ และในช่วงที่พระนางจิรประภาครองเมืองอยู่นั้น กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ พระนางจิรประภายอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยา กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงยกทัพกลับไป
เมื่อพระไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นโอรสของพระนางยอดคำทิพย์ พระราชธิดาของพระเจ้าเมืองเกษเกล้ากับพระเจ้าโพธิสารกษัตริย์ของแคว้นล้านช้าง เสด็จมาถึงเมืองเชียงใหม่ พระนางจิรประภาจึงสละราชสมบัติให้พระไชยเชษฐาขึ้นครองราชย์แทนเป็นเวลา ๒ ปี (พ.ศ ๒๐๘๙ - ๒๐๙๐) พระองค์ไม่สามารถขจัดปัญหาความแตกแยกในกลุ่มขุนนางได้ ขณะเดียวกันพระเจ้าโพธิสารราชบิดาสิ้นพระชนม์ พระองค์จึงเสด็จกลับไปยังแคว้นล้านช้าง ดังนั้นล้านนาจึงว่างกษัตริย์ลงอีกครั้ง ต่อมาเหล่าขุนนางได้พิจารณาเห็นพ้องต้องกันว่าให้เชิญพระเจ้าเมกุฎิแห่งเมืองนาย ซึ่งมีเชื้อสายของขุนเครือราชบุตรของพระเจ้ามังราย ให้เป็นกษัตริย์ปกครองล้านนา พระเจ้าเมกุฎิครองราชย์อยู่ในระหว่าง พ.ศ ๒๐๙๔ - ๒๑๐๗ นับเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์มังราย เพราะในระหว่างที่ครองราชย์นั้น พระเจ้าบุเรงนองได้ยกกองทัพพม่ามาล้อมเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ ๒๑๐๑ ใช้เวลาเพียงสามวัน ก็สามารถยึดเมืองเชียงใหม่ได้อย่างง่ายดาย
เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยึดครองเมืองเชียงใหม่ได้แล้ว ในระยะแรกนั้นพม่ามิได้เข้ามาปกครองโดยตรง แต่ยังได้มอบหมายให้พระเจ้าเมกุฎิปกครองบ้านเมืองตามเดิมในฐานะเมืองประเทศราชของพม่า ซึ่งเชียงใหม่จะต้องส่งเครื่องบรรณาการ ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง จะต้องเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินพม่าปีละหนึ่งครั้งเป็นอย่างน้อย จะต้องส่งส่วยเป็นสิ่งของตามที่พม่าต้องการ เช่น ช้าง ม้า น้ำรัก เครื่องแพรพรรณต่างๆ และจะต้องจัดหากำลังคน เสบียงอาหารช่วยพม่าในยามเกิดศึกสงคราม ต่อมาพม่าได้ปลดพระเจ้าเมกุฎิออกจากตำแหน่งเจ้าเมือง เนื่องจากพระเจ้าเมกุฎิมีความพยายามตั้งตนเป็นอิสระจากพม่า ขณะเดียวกันพระเจ้าไชยเชษฐาจากล้านช้างได้ยกทัพมาโจมตีเชียงแสน และพยายามสร้างพันธมิตรกับหัวเมืองไทยใหญ่ต่างๆ ดังนั้นพม่าจึงได้แต่งตั้งสตรีเชื้อสายราชวงศ์มังรายเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ คือพระนางราชเทวีหรือพระนางวิสุทธิเทวี เมื่อพระนางราชเทวีสิ้นพระชนม์ พม่าจึงได้แต่งตั้งเจ้านายและข้าราชการของพม่าเข้ามาปกครองเมืองเชียงใหม่โดยตรง
การปกครองของล้านนาในช่วงเวลาที่พม่ายึดครองนั้น จะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นเมืองที่อยู่ของผู้ปกครองที่พม่าส่งมาทำหน้าที่คอยดูแลเมืองต่างๆ นอกจากนี้พม่ายังแต่งตั้งตำแหน่งนาซ้าย นาขวา คอยดูแลและเก็บภาษี ตลอดจนคอยดูแลและควบคุมหัวเมืองต่างๆมิให้ก่อการกบฎ พันธะสำคัญประการหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ในฐานะประเทศราช ก็คือต้องเกณฑ์ส่วยจากเมืองต่างๆส่งไปยังพม่า และเมื่อมีศึกสงครามโดยเฉพาะคราวศึกระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยา เมืองเชียงใหม่จะมีหน้าที่ในการเกณฑ์กำลังคนและส่งเสบียง อำนาจของพม่าในเมืองเชียงใหม่นั้นมิใช่เป็นอำนาจที่ถาวรหรือมั่นคงตลอดเวลา ทั้งนี้เป็นเพราะว่าตัวอาณาจักรพม่าเองก็มิได้มีความมั่นคงตลอดเวลา แต่มีการขึ้นและลงของราชวงศ์ต่างๆอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน ซึ่งความวุ่นวายในพม่าจะส่งผลต่อการปกครองของพม่าในล้านนาด้วย ประกอบกับสภาพที่ตั้งของเมืองต่างๆในล้านนา ตลอดจนระบบพันนาต่างๆของแต่ละเมือง ได้กลายเป็นขุมกำลังที่ดีของเจ้าเมืองในท้องถิ่นที่จะพยายามสร้างสมอำนาจภายในเมืองเสมอมา พม่าจึงไม่สามารถควบคุมหัวเมืองต่างๆได้ ทำให้ไม่สามารถปกครองเมืองต่างๆได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้นตลอดระยะเวลาที่พม่าปกครองล้านนา ได้มีกบฎของเมืองต่างๆเกิดขึ้นเสมอ
จากการที่มีกบฎเกิดขึ้นในอาณาจักรตลอดมา จึงทำให้ใน พ.ศ ๒๒๔๔ พม่ามีนโยบายที่จะแบ่งแยกการปกครองล้านนาออกเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกได้แยกเมืองเชียงแสนออกจากอำนาจของเมืองเชียงใหม่ ให้เมืองเชียงแสนขึ้นตรงต่อกรุงอังวะโดยถือเป็นประเทศราชมณฑลหนึ่ง [5] ในระยะแรกได้รวมเอาเมืองกาย เมืองไร เมืองเลน เมืองแหลว เมืองพยาก เมืองเชียงราย และเมืองหลวงภูคา เข้าไว้ด้วยกันอยู่ภายใต้อำนาจของข้าราชการพม่าโดยตรง ต่อมาพม่าได้ให้เมืองต่างๆดังต่อไปนี้ คือ เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองนครลำปาง เมืองฝาง เมืองสาด เมืองเชียงของ และเมืองเทิง ขึ้นอยู่กับเมืองเชียงแสน [6] แต่การแบ่งแยกเมืองเชียงแสนและเมืองบริวารออกไปนี้มิได้แก้ปัญหาการกบฎในเมืองต่างๆได้ เพราะยังมีการกบฎหรือแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้นมา จะมีการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างผู้ปกครองระดับท้องถิ่นกันเองเช่น กรณีของเทพสิงห์ผู้ปกครองเมืองยวม เข้าแย่งชิงเมืองเชียงใหม่จากผู้ปกครองพม่า และในตอนหลังก็ถูกเจ้าองค์คำจากเมืองล้านช้างเข้ามาแย่งชิงเมืองอีกต่อหนึ่ง ทางเทพสิงห์จึงร่วมมือกับเจ้าเมืองน่านจะยึดกลับคืนอีก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้นเจ้าองค์คำจึงสามารถปกครองเมืองเชียงใหม่สืบมา เมื่อเจ้าองค์คำถึงพิราลัยก็เกิดศึกแย่งชิงเมืองภายในเมืองเชียงใหม่ จึงเป็นเหตุให้พม่ายกกองทัพมายึดครองเมืองเชียงใหม่ได้อีกครั้งใน พ.ศ ๒๓๐๖ และได้ใช้ล้านนาเป็นฐานกำลังสำคัญในการยกกองทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา
การกอบกู้เอกราชของล้านนาได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ ๒๓๑๔ เมื่อพระยาจ่าบ้านบุญมาขุนนางที่เมืองเชียงใหม่กับพระยากาวิละ ลูกเจ้าฟ้าเมืองนครลำปางเชื้อสายตระกูลเจ้าเจ็ดตน ได้ร่วมมือกันกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า โดยได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมทั้งขอความช่วยเหลือให้ส่งกองทัพไปตีพม่าในดินแดนล้านนา ครั้งนั้นพระเจ้ากรุงธนบุรีพร้อมด้วยเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพหลวงขึ้นมาทางเมืองนครลำปาง และเข้าตีเมืองเชียงใหม่ได้ใน พ.ศ ๒๓๑๗ หลังจากนั้นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้พระราชทานแต่งตั้งพระยาจ่าบ้านบุญมาขึ้นเป็นพระยาวิเชียรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่ และให้พระยากาวิละเป็นเจ้าเมืองนครลำปาง
อย่างไรก็ตามกองทัพพม่าที่แตกหนีจากเมืองเชียงใหม่ไปได้เพียงหนึ่งเดือนก็กลับยกรี้พลจำนวนมากมาล้อมเมืองเชียงใหม่อีกใน พ.ศ ๒๓๑๘ ขณะนั้นไพร่พลของเมืองเชียงใหม่มีจำนวนน้อยแต่ก็ได้กำลังจากเมืองนครลำปางมาช่วยสู้รบป้องกันเมือง พม่าล้อมเมืองเชียงใหม่อยู่แปดเดือนจนเสบียงของเมืองเชียงใหม่หมด พอดีกองทัพไทยมาถึงช่วยตีทัพพม่าจนแตกพ่ายไป ครั้งนั้นเมืองเชียงใหม่ที่เคยเจริญรุ่งเรืองก็ถึงกาลเสื่อมโทรมสุดขีด พลเมืองแตกฉานซ่านเซ็นหนีไปอยู่ที่อื่นสิ้น พระยาจ่าบ้านเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ทิ้งเมืองเชียงใหม่ไปอยู่เมืองนครลำปางระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาตั้งอยู่ที่ตำบลวังพร้าว เขตเมืองลำพูน ดังนั้นเมืองเชียงใหม่จึงกลายเป็นเมืองร้างไปเป็นเวลาถึง ๒๑ ปี
ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในดินแดนล้านนาโดยเฉพาะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อันเป็นผลจากการสู้รบแย่งชิงเมืองระหว่างไทยกับพม่านั้น ได้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับบ้านเมืองต่างๆในล้านนาเป็นอันมาก มิเพียงแต่เมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดจะร้างไประยะหนึ่งเท่านั้น เมืองอื่นๆก็เสียหายถูกทอดทิ้งไปเกือบทั้งสิ้น เช่น ที่เมืองนครลำปางนั้นขณะที่กองทัพพม่าล้อมเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ ๒๓๑๘ กองทัพพม่าอีกส่วนหนึ่งได้ยกมาตีเมืองนครลำปางด้วย ขณะนั้นไพร่พลเมืองนครลำปางมีน้อยเนื่องจากไปช่วยรักษาเมืองเชียงใหม่ด้วย ไม่อาจต้านทาน จึงได้ทิ้งเมืองพากันหนีไปอยู่เมืองสวรรคโลกเป็นเวลาหนึ่งปีจึงกลับมาอยู่เหมือนเดิม สำหรับเมืองลำพูนหรือหริภุญไชยนั้นเมื่อเมืองเชียงใหม่ถูกปล่อยทิ้งร้าง พระยาจ่าบ้านได้อพยพมาอยู่ในเมืองลำพูน ต่อมากองทัพเมืองเชียงแสนและเมืองเชียงรายได้มาตีเมืองลำพูนจนแตก พระยาจ่าบ้านได้ทิ้งเมืองหนีไปอยู่ปากแม่น้ำลี้ เมืองลำพูนจึงกลายเป็นเมืองร้าง ด้านเมืองน่านก็เช่นกันได้ถูกกองทัพเมืองเชียงแสนเข้าตีและกวาดต้อนผู้คนไปไว้ยังเมืองเชียงแสน ดังนั้นเมืองน่านจึงกลายเป็นเมืองร้าง ส่วนเมืองพะเยาและแพร่นั้นเมื่อกองทัพอะแซหวุ่นกี้ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้ทำให้เจ้าเมืองและประชาชนแตกตื่นตกใจกลัวพากันอพยพหนีไปอยู่ที่อื่นสิ้น ทำให้เมืองร้างไปเป็นเวลานานเช่นกัน อย่างไรก็ตามเมืองเชียงแสน และเมืองเชียงรายนั้นได้ถูกกองทัพของพระยากาวิละเข้าตีได้ใน พ.ศ ๒๓๔๗ โดยเฉพาะเมืองเชียงแสนนั้นได้ถูกเผาทำลายเมืองเพื่อมิให้เป็นที่ซ่องสุมพลของพม่าต่อไป รวมทั้งได้กวาดต้อนครอบครัวพลเมืองของเมืองเชียงแสนและเชียงรายตลอดจนหัวเมืองรายทาง ไปไว้ยังเมืองสำคัญต่างๆเช่น เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน และส่วนหนึ่งส่งไปยังกรุงเทพฯ จึงทำให้เมืองในล้านนาหลายเมืองทรุดโทรมและกลายเป็นเมืองร้าง
การฟื้นฟูล้านนาเริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่ที่พระยาจ่าบ้านและพระยากาวิละได้เข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้ากรุงธนบุรีและต้องพึ่งพิงกองทัพจากกรุงธนบุรีช่วยสู้รบกับกองทัพพม่านั้น มีผลเท่ากับว่าส่วนหนึ่งของดินแดนล้านนาโดยเฉพาะเมืองเชียงใหม่และเมืองนครลำปางมีฐานะเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงธนบุรี ดังปรากฎว่าพระยากาวิละได้เคยถูกพระเจ้ากรุงธนบุรีลงโทษตัดขอบหูทั้งสองข้างในความผิดที่ทำร้ายฆ่าฟันทหารไทยที่มาตรวจราชการทางเมืองแพร่เมืองน่าน [7] จนกระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ในแผ่นดินสยามแล้ว จึงพระราชทานโปรดเกล้าฯให้พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองเชียงใหม่แทนพระยาจ่าบ้านที่เสียชีวิตลง เมื่อบ้านเมืองเริ่มมีความสงบและปลอดจากสงคราม การบูรณะฟื้นฟูเมืองต่างในดินแดนล้านนาจึงได้เกิดขึ้นตามลำดับดังนี้
แคว้นล้านนาภายหลังจากได้รับการฟื้นฟูแล้วคงมีฐานะเป็นประเทศราชของกรุงเทพฯที่มีเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้ปกครอง โดยเจ้าผู้ครองนครจะมีอิสระในการบริหารภายในทั้งทางด้านการปกครอง เศรษฐกิจ และขนบธรรมเนียมประเพณี อย่างไรก็ตามได้เริ่มมีการปฏิรูปการปกครองในล้านนาขึ้น โดยระยะแรกเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ ๒๔๒๗ ได้จัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลพายัพหรือมณฑลลาวเฉียง การปฏิรูปการปกครองดังกล่าวนี้เป็นการดำเนินงานอย่างค่อยเป็นไปอย่างช้าๆ ต่อเนื่องและยาวนาน โดยรัฐบาลกลางส่งข้าหลวงขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือในการบริหารราชการ ได้มีการแต่งตั้งตำแหน่งเสนา ๖ ตำแหน่งขึ้นมาใหม่ ประกอบด้วย กรมมหาดไทย กรมทหาร กรมคลัง กรมยุติธรรม กรมวัง และกรมนา แต่ขณะเดียวกันยังคงให้มีตำแหน่งเค้าสนามหลวงอยู่ แต่ลดความสำคัญลง และพยายามริดรอนอำนาจเจ้าเมืองทีละเล็กละน้อย อันนับเป็นกระบวนการรวมหัวเมืองประเทศราชล้านนาเข้ากับส่วนกลาง ในที่สุดเมื่อ พ.ศ ๒๔๔๒ ดินแดนล้านนาจึงได้รับการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล อันนับเป็นการยกเลิกฐานะหัวเมืองประเทศราชล้านนาและผนวกดินแดนล้านนามาเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามอย่างแท้จริง.





สถานภาพการศึกษางานเอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนา
ในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีนักวิชาการทำการศึกษาเรื่องราวที่เกี่ยวกับเอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนาหรือผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของล้านนาหลายคน ผลงานที่สำคัญๆ ดังรายละเอียดที่จะได้นำเสนอไปตามลำดับดังนี้
วัฒนะ วัฒนาพันธ์ และคณะ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับศิลปะพื้นบ้านหรือศิลปหัตถกรรมล้านนาใน พ.ศ ๒๕๒๓ สรุปผลของการศึกษาได้ว่า งานศิลปหัตถกรรมที่ยังเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาอย่างแท้จริงนั้นได้แก่ เครื่องจักสานและเครื่องปั้นดินเผา ส่วนเครื่องเงินโลหะ เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องรักเครื่องเขิน การทอผ้า และ การทำร่มนั้นมีสภาพการผลิตเป็นแบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยมีจุดมุ่งหมายของการผลิตเพื่อจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว ขณะที่เครื่องจักสานเช่น กระบุง ตะกร้า ก่องข้าว ฯลฯ และเครื่องปั้นดินเผา เช่น หม้อนึ่ง หม้อน้ำ และน้ำต้นนั้นยังมีการผลิตเพื่อมุ่งหมายใช้ภายในครัวเรือนโดยเฉพาะในภาคชนบทของล้านนาเป็นส่วนใหญ่ [8]
ใน พ.ศ. ๒๕๒๘ ไชยวัฒน์ รุ่งเรืองศรี และคณะ ได้ทำการศึกษางานหัตถกรรมในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของงานแกะสลักไม้ในภาคเหนือตอนบนไว้ว่า เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้และความชำนาญของช่างในท้องถิ่น ทำให้เกิดการสร้างงานเหล่านี้ขึ้น ในอดีตที่ผ่านมางานช่างแกะสลักไม้เป็นงานที่ทำขึ้นเพื่อสถาบันศาสนาและชนชั้นปกครอง มีบางส่วนเป็นงานที่สร้างขึ้นเพื่อใช้สอยเอง แต่ปัจจุบันงานแกะสลักงานไม้เป็นศิลปหัตถกรรมในเชิงพานิชย์ที่ทำขึ้นเพื่อจำหน่าย รูปแบบของงานผลิตภัณฑ์แกะสลักไม้จะนิยมทำอยู่ ๓ แบบหลักๆ คือ รูปแบบแรก นิยมแกะสลักไม้ทำเป็นประติมากรรมรูปช้าง รูปบุคคล รูปเคารพและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ รูปแบบสอง นิยมแกะสลักลวดลายประดับตกแต่งเครื่องเรือนหรือเฟอร์นิเจอร์ รูปแบบที่สาม นิยมแกะสลักเลียนแบบของเก่า [9]
ต่อมาใน พ.ศ ๒๕๓๔ ปัณฑิตา ตันติวงศ์ ได้ศึกษาและสำรวจงานหัตถอุตสาหกรรมในภาคเหนือซึ่งสรุปได้ว่า แหล่งผลิตงานศิลปหัตถกรรมในปัจจุบันได้มีพัฒนาการขึ้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางและจังหวัดเชียงใหม่ ผลของการศึกษาได้จำแนกงานศิลปหัตถกรรมของภาคเหนือเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. งานสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์และแหล่งผลิตงานสิ่งทอที่เป็นตัวอย่างสำคัญคือ ผ้าฝ้ายทอมือบ้านไร่ไผ่งาม ตำบลสบเตี๊ยะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ มีการทอผ้าฝ้ายทอมือที่สืบทอดกรรมวิธี รูปแบบและลวดลายแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นงานผลิตโดยใช้วัตถุดิบและสีธรรมชาติ ลวดลายส่วนใหญ่เกิดจากการออกแบบของคุณยายแสงดา บันสิทธิ์ โดยมีการนำผ้าเหล่านี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผ้ารองจาน ผ้าพันคอ เป็นต้น
๒. งานเครื่องปั้นดินเผา ตัวอย่างแหล่งผลิตที่สำคัญมีอยู่ ๒ แหล่ง คือ แห่งแรกคือ บ้านหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ได้สืบทอดกรรมวิธีการผลิตและรูปแบบภาชนะมาจากบรรพบุรุษ ภาชนะมีทั้งแบบไม่เคลือบและขัดผิวมันกันน้ำซึม รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ได้แก่ หม้อน้ำ หม้อใส่อาหาร แห่งที่สองคือโรงงานเครื่องเคลือบศิลป์เสรี จังหวัดลำปาง เป็นงานที่ผลิตในระบบโรงงานขนาดกลาง รูปแบบของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น จาน ชาม ถ้วยกาแฟ และของที่ระลึกต่าง ๆ เป็นต้น
๓. งานผลิตภัณฑ์อื่น ๆ แหล่งผลิตแห่งแรก คือไม้แกะสลักบ้านต้นผึ้ง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แกะสลักไม้สักเป็นภาพนูนสูง เป็นภาพธรรมชาติของป่าและช้างเป็นส่วนมาก แหล่งที่สอง คือผลิตภัณฑ์เครื่องเขิน ซึ่งเป็นภาชนะจักสานด้วยกรรมวิธีขดเส้นไม้ไผ่และตกแต่งเคลือบผิวด้วยยางรัก แหล่งผลิตอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งที่สาม คือผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่บ้านท่าล้อ จังหวัดลำปาง ที่ใช้วัตถุดิบของท้องถิ่นคือ เปลือกของต้นปอสา ที่ผ่านกรรมวิธีการผลิตแบบพื้นบ้านจะได้แผ่นกระดาษสา ซึ่งกระดาษสานี้ใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้เป็นกระดาษห่อของขวัญหรือใช้ห่อผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งจะช่วยแสดงความเป็นพื้นถิ่นและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อื่นได้อีกด้วย [10]

ใน พ.ศ ๒๕๔๒ คุณา นนทวัฒน์ ได้เขียนถึงแหล่งผลิตงานหัตถกรรมที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ในบริบทของการผลิตงานหัตถกรรมเชิงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในหนังสือเรื่อง มรดกอาณาจักรล้านนา ซึ่งสรุปเรื่องราวได้ว่า
๑. เครื่องเงิน แหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในบริเวณย่านถนนวัวลาย – ศรีสุพรรณ มีการสืบทอดงานช่างฝีมือมาแต่โบราณ รูปแบบของผลิตภัณฑ์เครื่องเงินได้แก่ พาน กรอบรูป ถาด สลุง เป็นต้น ลวดลายเด่นที่เป็นเอกลักษณ์คือ ลายดอกฝ้าย ลาย ๑๒ ราศี ลายโขงปลิงและลายดอกไฟ
๒. เครื่องเขิน เครื่องเขินเป็นหัตถกรรมภายในครัวเรือนที่มีแหล่งผลิตสำคัญอยู่ในชุมชนบ้านนันทรามมาตั้งแต่อดีต การผลิตเครื่องเขินในปัจจุบันจะเป็นระบบอุตสาหกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องโดยมีแหล่งผลิตอยู่ในเขตอำเภอสันกำแพง ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินในท้องตลาดเครื่องเขินมีให้เลือกอยู่ ๓ ประเภท คือ เครื่องเขินพื้นเมืองรุ่นเก่า เครื่องเขินจากพม่าและเครื่องเขินแบบใหม่ที่ผลิตขึ้นภายในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันการใช้สอยภาชนะเครื่องเขินมีน้อยลง ทำให้การผลิตเครื่องเขินเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภัณฑ์เครื่องเขินในทุกวันนี้จึงทำเป็นสินค้าที่ระลึกเสียเป็นส่วนมาก
๓. ผ้าทอ แหล่งทอผ้าที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่มีอยู่ ๓ แหล่ง คือ แหล่งแรกอยู่ในเขตอำเภอแม่แจ่ม เป็นแหล่งทอผ้าซิ่นตีนจกที่งดงามและมีชื่อเสียง แหล่งที่สอง คือผ้าไหมและผ้าฝ้ายในเขตอำเภอสันกำแพง แหล่งที่สาม คือผ้าฝ้ายทอมือและย้อมสีด้วยกรรมวิธีธรรมชาติที่บ้านไร่ไผ่งาม อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
๔. ไม้แกะสลัก แหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญอยู่ที่หมู่บ้านถวาย อำเภอหางดงและ บางพื้นที่ของอำเภอสันกำแพง รูปแบบผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องเรือนและเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น ตู้ เตียง โต๊ะ นอกจากนี้ยังเป็นสินค้าที่ระลึกและของประดับตกแต่งต่างๆ
๕. เครื่องปั้นดินเผา แหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ คือบ้านหารแก้วและบ้านเหมืองกุง อำเภอหางดง รูปแบบผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นภาชนะประเภทหม้อน้ำและคนโท หรือน้ำต้น
๖. ร่มกระดาษสา แหล่งผลิตและจำหน่ายที่สำคัญ คือบ้านบ่อสร้าง อำเภอสันกำแพง ตัวโครงร่มทำด้วยไม้บง คันร่มใช้ไม้รวก ส่วนกันแดดและฝนใช้กระดาษสาแล้วนำมาเคลือบยางตะโกหรืออาจผสมยางไม้ทา ปัจจุบันการทำร่มมีการแยกส่วนกันทำ เช่นหมู่บ้านต้นเปารับทำกระดาษสา บ้านแม่ฮ้อนเงินทำด้ามร่ม บ้านต้นแหนทำโครงร่มและซี่ร่ม เป็นต้น [11]

วัฒนะ จูฑะวิภาต กล่าวถึงงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของล้านนาไว้ในหนังสือเรื่อง ศิลปะพื้นบ้าน ไว้ว่า อาณาจักรล้านนามีความเจริญรุ่งเรืองทางศิลปและวัฒนธรรม จึงทำให้เกิดการสั่งสมงานศิลปหัตถกรรมจนเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น งานศิลปหัตถกรรมที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นในล้านนาโดยภาพรวมมีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของแต่ละจังหวัดดังนี้
๑. จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ เครื่องเขิน เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องเงิน ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผลิตภัณฑ์ของชาวเขา เครื่องปั้นดินเผา ร่ม เครื่องจักสานและผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบของเก่า
๒. จังหวัดเชียงราย ได้แก่ มีดดาบ เครื่องเคลือบ เครื่องไม้แกะสลัก เครื่องจักสานและเครื่องปั้นดินเผา
๓. จังหวัดลำปาง ได้แก่ มีดดาบ เครื่องเคลือบ เครื่องไม้แกะสลักและเครื่องจักสาน
๔. จังหวัดลำพูน ได้แก่ ผ้าไหมและผ้าฝ้าย
๕. จังหวัดแพร่ ได้แก่ เครื่องไม้แกะสลักและผ้าฝ้าย
๖. จังหวัดน่าน ได้แก่ ผ้าซิ้นพื้นเมืองและแคน [12]

เกี่ยวกับเครื่องจักสานซึ่งเป็นงานศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นของล้านนา สมปอง เพ็งจันทร์ ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือเรื่อง เครื่องจักสานภาคเหนือ ซึ่งสรุปได้ว่า เครื่องจักสานสำคัญๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือนั้นได้แก่
๑. คุตีข้าว เป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ใช้สำหรับตีข้าวในฤดูเก็บเกี่ยว
๒ แอ่วตีข้าว เป็นภาชนะจักสานขนาดใหญ่ใช้ตีข้าวเช่นเดียวกับคุ แต่รูปแบบแตกต่างกับคุ ที่คล้ายกระบุงขนาดใหญ่ ก้นแอ่วเป็นสี่เหลี่ยมแบนเรียบ ขณะที่ก้นของคุจะกลมและเว้าเข้าไปภายใน แอ่วนิยมผลิตมากในเขตจังหวัดลำปางและบางส่วนของจังหวัดพะเยา
๓. กระบุง เป็นภาชนะบรรจุของที่ใช้หาบ รูปแบบของกระบุงหรือบุงในภาคเหนือนั้นมีหลายแบบ เช่นบุงเมืองแพร่มีรูปทรงอ้วนป้อม บุงเชียงใหม่ทรงสูง ส่วนบุงลำปางและน่านจะแป้นและแบน
๔. ซ้าหวด เป็นเครื่องจักสานที่มีรูปแบบเรียบง่ายและสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการบริโภคข้าวเหนี่ยว ผลิตขึ้นเพื่อใช้ซาวข้าวหม่าแช่พักไว้เป็นเวลาสั้น ๆ ก่อนนำไปเทใส่ไหนึ่ง
๕. น้ำถุ้ง ภาชนะจักสานสำหรับใช้ตักน้ำจากบ่อ รูปทรงกรวยป้านมีหูจับที่ทำด้วยไม้ เมื่อสานเสร็จแล้วจะลงชันหรือที่เรียกว่า “ขี้หย้า” เพื่ออุดช่องว่างของลายสาน ทำให้สามารถเก็บอุ้มน้ำได้
๖. ภาชนะไม้ไผ่ขด หรือ “ เครื่องเขิน ” นิยมทำจากไม้ไผ่เฮี้ย มีโครงเป็นไม้ไผ่ที่ใช้เทคนิคขด ผสมการสาน แล้วลงยางรักเพื่อปิดรูรั่วของรอยขดไม้ไผ่ [13]
พ.ศ. ๒๕๔๕ วิถี พานิชพันธ์ ได้ศึกษาเรื่องเครื่องเขินอันเป็นเอกลักษณ์ของงานศิลปหัตถกรรมประเภทหนึ่งที่แสดงเอกลักษณ์ล้านนา แต่เป็นงานที่น่าจะแพร่หลายครั้งสำคัญในสมัยพระเจ้ากาวิละที่นำชาวไทเขินเข้ามาอยู่เชียงใหม่ กลุ่มชนเหล่านี้ล้วนชำนาญในการทำเครื่องเขินเป็นอย่างยิ่ง มีชุมชนที่ทำหน้าที่ผลิตในระยะเวลานั้นในเขตบ้านช่างหล่อ บ้านวัวลาย บ้านนันทาราม ชุมชนระแกง เป็นต้น วิธีการสำคัญในการผลิต คือ การนำเครื่องจักสานมาเคลือบด้วยยางรัก ภาษาคำเมืองจะเรียกภาชนะเหล่านี้ว่า “ ครัวฮักครัวหาง ”
จากการศึกษาพบว่ารูปแบบภาชนะเครื่องเขินสำคัญที่ผลิตกันใช้กันในอดีตนั้น ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันและใช้สอยเนื่องในงานพิธีทางศาสนาด้วย ตัวอย่างสำคัญ คือ ขันหมาก เอิบและหีบผ้า แอ็บหมากและแอ็บเรือ ขันดอก ขันโตก ปุง บุงหรือเปี๊ยด โอหาบ กระบอกใส่เทียนไปวัด เป็นต้น[14]

พ.ศ. ๒๕๔๕ วัฒนะ วัฒนาพันธุ์และคณะ ได้ทำการศึกษาถึงความเปลี่ยนแปลงของงานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านล้านนา พบประเด็นใหม่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่สำคัญดังนี้
๑. ไม้แกะสลักล้านนา มีชุมชนแหล่งผลิตและจำหน่ายสำคัญที่มีบทบาทมากในสถานการณ์ปัจจุบัน แหล่งแรกคือ บ้านถวาย ตำบลขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มีนัยของความชำนาญการเลียนแบบที่ถูกกำหนดจากความต้องการของผู้ซื้อ จึงทำให้มีกระบวนการผลิตเชิงอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รูปแบบส่วนใหญ่เป็นงานที่มีเทคนิคและอิทธิพลของศิลปะอื่นเข้ามาปะปนมาก ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ การแกะสลักพระพุทธรูปที่มีรูปแบบศิลปะพม่า เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่จึงกลายจากเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน มาเป็นงานประดับหรือสินค้าที่ระลึก โดยทำหน้าที่ในบริบทของการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นกระบวนการผลิตบางส่วนยังต้องพึ่งพิงวัสดุ ชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์บางประเภทจากแหล่งผลิตอื่น เช่น จากแหล่งผลิตบ้านทา อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน บ้านหลุก อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นต้น
แหล่งที่สองคือ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งผลิตและจำหน่ายสำคัญคือบ้านจ๊างนัก เกิดจากการรวมกลุ่มช่างหรือสล่าที่มีความชำนาญในการแกะสลักมาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานขึ้น เอกลักษณ์ผลงานของกลุ่มคือรูปธรรมชาติ โดยเฉพาะรูปช้างเป็นรูปแบบหลัก แต่ยังปรากฏรูปแบบอื่น ๆ ตามความต้องการของสั่งทำ อาทิ รูปแบบภาพเล่าเรื่อง เรื่องรามเกียรติ์ รูปเหมือนบุคคล เป็นต้น
๒. จักสานล้านนา มีการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบจากธรรมชาติมาสู่เส้นใยสังเคราะห์ เช่น พลาสติก เป็นต้น แต่ผลิตภัณฑ์จากเส้นใยสังเคราะห์เหล่านี้ส่วนมากยังคงลวดลายเดิมที่ปรากฏในเครื่องจักสานที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนั้นยังมีเครื่องจักสานที่ผลิตขึ้นภายใต้การรวมกลุ่มในลักษณะการผลิตโดยใช้วัสดุอื่น ๆ เช่น จากผักตบชวา หญ้าลิเพา กระดาษหนังสือพิมพ์ หลอดดูดน้ำอัดลม เป็นต้น
๓. ผ้าล้านนา มีชุมชนแหล่งผลิต และจำหน่ายสำคัญที่มีบทบาทมากในสถานการณ์ปัจจุบัน แหล่งแรกคือชุมชนแม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เทคนิคพิเศษและเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มคือเทคนิคจก โดยมีผลิตภัณฑ์สำคัญคือ “ ซิ่นตีนจก ” แหล่งที่สองคือ บ้านไร่ไผ่งาม อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นงานที่ผลิตและใช้วัสดุตามกรรมวิธีทางธรรมชาติ นอกจากนั้นในแหล่งผลิตอื่น ๆ ยังพบการทอผ้าแบบพื้นเมืองอยู่แต่ใช้วัสดุจากเส้นใยสังเคราะห์แทน [15]

จากการศึกษาผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของล้านนาในช่วงเวลาที่ผ่านมาเห็นได้ว่า ผลของการวิจัยจะเน้นการศึกษาอยู่เฉพาะแต่ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่เป็นส่วนใหญ่ อาจมีผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นถิ่นของจังหวัดอื่นๆ บางส่วนถูกกล่าวถึงอยู่บ้างแต่ก็น้อยมาก ทั้งนี้อาจเนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่และเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญระดับประเทศ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแหล่งรวมของงานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยและมีประเภทของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่หลากหลาย ประเภทของผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยที่เป็นเอกลักษณ์ล้านนาที่พบก็มีความหลากหลาย ได้แก่ งานสลักไม้ งานทอผ้า งานเครื่องปั้นดินเผา งานจักสาน ตลอดจนผลิตภัณฑ์เครื่องเขินและเครื่องเงิน เป็นต้น อย่างไรก็ดีผลของการศึกษาดังกล่าวยังไม่อาจสรุปให้เห็นในภาพรวมของงานเอกลักษณ์ศิลปกรรมล้านนาหรือผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของล้านนาได้ เนื่องจากพื้นที่ของการศึกษาที่ผ่านมายังไม่ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนทั้งหมด ดังนั้นในการวิจัยครั้งนี้จึงจำเป็นต้องทำการศึกษาสำรวจผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยให้ครอบคลุมพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคเหนือตอนบน ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยาและแม่ฮ่องสอน จึงจะสามารถกล่าวได้ว่าผลิตภัณฑ์งานศิลปกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยของล้านนาหรือเอกลักษณ์ของงานศิลปกรรมล้านนาเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2551

การวิจัย

ในการทำวิจัยเนื้อหาสาระที่สำคัญคือ การหาปัญหาว่าเราทำการศึกษาเรื่องอะไร ความสำคัญของปัญหานั้นมีอะไรบ้าง และผลที่ได้ หรือประโยชน์จากการศึกษาเป็นอย่างไร